หลังจากที่อุ้มท้องมานาน 9 เดือน ผ่านการฝากครรภ์และดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของคุณหมอ จนกระทั่งคลอดลูกออกมาแล้ว วิธีการดูแลตัวเองหลังคลอดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวไว มดลูกเข้าอู่เร็ว และสุขภาพโดยรวมแข็งแรง คุณแม่ยังต้องดูแลตัวเองอย่างรอบคอบและดูแลลูกต่อไป
โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่หลังคลอดที่ยังไม่มีประสบการณ์ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอดและพร้อมสำหรับการเลี้ยงดูลูก
เคล็ดลับวิธีดูแลตัวเองหลังคลอด
- ร่างกายจะฟื้นตัวหลังคลอดเมื่อไหร่
- พักผ่อนให้ได้มากที่สุด
- อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็วทำยังไง
- อาหารที่ควรกินและควรเลี่ยงหลังคลอด
- วิธีให้นมบุตรและการดูแลเต้านม
- คุณแม่หลังคลอดเริ่มออกกำลังกายได้เมื่อไหร่
- วิธีดูแลแผลผ่าคลอดและแผลฝีเย็บ
- หลังคลอดแล้วมีเพศสัมพันธ์ได้ตอนไหน
- อาการผิดปกติหลังคลอดที่ต้องระวัง
- ตรวจหลังคลอด สำคัญอย่างไร
ร่างกายจะฟื้นตัวหลังคลอดเมื่อไหร่
โดยทั่วไป ร่างกายคุณแม่จะใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 6-8 สัปดาห์หลังคลอด แต่มดลูกจะเข้าอู่ภายใน 4-6 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละคน การพักผ่อน อาหาร และวิธีดูแลตัวเองหลังคลอดก็มีผลต่อการฟื้นตัวด้วย
ในช่วงระยะเวลา 8 สัปดาห์หลังการคลอดบุตร ระบบอวัยวะภายในบริเวณช่องคลอดของคุณแม่อาจยังทำงานไม่ปกติดีนัก และอาจพบอาการผิดปกติได้ เช่น ปัญหาที่ระบบขับถ่ายอย่างอาการท้องผูก, ริดสีดวงทวาร และตกขาว ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆลดลงไป
หากคุณแม่สังเกตุพบว่าที่บริเวณแผลมีรอยปริ หรือด้ายเย็บแผลหลุดควรไปพบแพทย์ ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงช่วงตรวจหลังคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการที่ผิดปกติอย่าง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น รู้สึกปวด มีไข้ อาจเป็นไปได้ว่ามีการติดเชื้อ
พักผ่อนให้ได้มากที่สุด
วิธีดูแลตัวเองหลังคลอดที่จำเป็นมาสำหรับคุณแม่ก็คือการพักผ่อน คุณแม่มือใหม่หลังคลอดแล้วคุณแม่ควรหาเวลาว่างๆ ในระหว่างลูกน้อยหลับเพื่อพักผ่อนด้วยเหมือนกัน เพราะการนอนหลับไม่เพียงพอจะส่งผลเสียโดยตรงต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่ได้รับการฟื้นฟู เพราะในช่วงการตั้งครรภ์คุณแม่ก็แบกท้องลูกน้อยมายาวนาน และเหนื่อยพอสมควรค่ะ
ซึ่งในระยะหลังคลอดคุณแม่อาจะยังคงอ่อนเพลียอยู่ เนื่องจากการสูญเสียเลือดและพลังงานในขณะคลอด โดยควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด

อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็วทำยังไง
- ให้นมลูก การให้นมลูกน้อยจะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งทำให้มดลูกหดตัวเร็วขึ้น
- ขยับร่างกายเบา ๆ เช่น เดินช้า ๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- นอนคว่ำ ช่วยให้มดลูกหดตัวได้ดีขึ้น
- ดูแลเรื่องอาหารและโภชนาการ รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กและโปรตีนให้เพียงพอ
- เข้ารับการตรวจหลังคลอด เพื่อติดตามการฟื้นตัวของมดลูกและสุขภาพโดยรวม
อาหารที่ควรกินและควรเลี่ยงหลังคลอด

อาหารที่ควรกิน
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมสร้างร่างกายและมีสารอาหารเพียงพอสำหรับการสร้างน้ำนมให้ลูก
- การรับประทานผักและผลไม้จะช่วยป้องกันอาการท้องผูก ที่มักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด เนื่องจากคุณแม่บางท่านอาจรู้สึกเจ็บแผลเมื่อเบ่งอุจจาระ
- ในขณะที่การให้นมบุตรควรรับประทานอาหารที่ครบถ้วนและดื่มน้ำหรือนมเพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากสารเหล่านี้อาจถูกขับออกทางน้ำนมและอาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยได้ ได้แก่
-
อาหารประเภทหมักดอง อาหารรสจัด
-
ชา กาแฟ ยาดอง เหล้า อาหารที่มีแอลกอฮอล์ผสม
-
การรับประทานยาและเครื่องดื่มจากสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประเทาน เพราะสมุนไพรบางชนิด เช่น ไพล มีฤทธิ์ทำให้มดลูกคลายตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดการตกเลือดได้
วิธีให้นมบุตรและการดูแลเต้านม
ภายหลังการคลอด ร่างกายของคุณแม่จะกระตุ้นการผลิตน้ำนม ซึ่งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกตึงและคัดที่เต้านม การให้นมลูกจะช่วยลดอาการคัดตึงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยให้ทารกได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าและภูมิต้านทานที่ดีที่สุดจากน้ำนมแม่
-
การให้นมลูก ควรให้ทารกงับถึงลานนม ไม่ใช่แค่หัวนม เพื่อให้น้ำนมพุ่งออกมา การให้นมลูกอย่างสม่ำเสมอจะช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมและลดอาการคัดตึงได้
-
การดูแลเต้านม ช่วงแรกหลังคลอดจะมีน้ำนมเหลืองหรือที่เรียกว่า “โคลัสตรัม” (Colostrum) ซึ่งมีประโยชน์มากต่อลูกน้อย ควรให้ทารกดูดนมแม่ให้หมดทุกครั้ง
-
การทำความสะอาดเต้านมและหัวนม ทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดก็เพียงพอแล้วไม่ควรใช้สบู่ รวมไปถึงไม่จำเป็นกับต้องทำความสะอาดบ่อยจนเกินไป เพราะต่อมไขมันภายในจะช่วยถนอมเต้านมและหัวนมอยู่แล้ว และทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้หัวนมแตก

คุณแม่หลังคลอดเริ่มออกกำลังกายได้เมื่อไหร่
การออกกำลังกายหลังคลอด เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ขับน้ำคาวปลา และเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น ฝีเย็บ กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และหน้าท้อง อย่างไรก็ตาม คุณแม่หลังคลอดควรเลือกการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
-
คลอดธรรมชาติ สามารถเริ่มออกกำลังกายเบา ๆ ได้หลังจากพักฟื้น 6-8 ชั่วโมง เช่น การเดิน หรือการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
-
ผ่าคลอด ควรให้ร่างกายพักฟื้น 3-6 วัน ก่อนเริ่มขยับตัว และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ควรรอ 6-8 สัปดาห์ ก่อนเริ่มออกกำลังกายจริงจัง
ข้อควรระวัง: หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในท่านอนคว่ำ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะลมอุดตันในหลอดเลือดได้ นอกจากนี้ ควรฟังร่างกายตัวเอง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดหน่วง เลือดออกผิดปกติ หรือเวียนศีรษะ ควรหยุดทันทีและปรึกษาแพทย์
วิธีดูแลแผลผ่าคลอดและแผลฝีเย็บ
ไม่ว่าจะคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ หรือจะคลอดด้วยการผ่าตัดก็ต้องมีแผลเย็บทั้งนั้น คุณแม่จึงควรให้ความสนใจและรักษาความสะอาดเป็นพิเศษ เพื่อจะได้ไม่มีอาการอักเสบและติดเชื้อจนทำให้แผลหายช้าลง ซึ่งจะส่งผลต่อการเลี้ยงดูลูกหลังคลอดด้วย
วิธีการดูแลแผลฝีเย็บหลังคลอด
โดยปกติแผลที่เย็บด้วยไหมละลายไม่ต้องตัดไหม และจะหายเป็นปกติในเวลาประมาณ 5 วัน โดยควรดูแลแผลฝีเย็บ คือ
-
รักษาความสะอาด ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่รวมไปถึงซับให้แห้งทุกครั้ง หลังการอุจจาระและปัสสาวะ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
-
หลีกเลี่ยงการนั่งทับแผลนาน ๆ เพื่อลดอาการบวมและการเกิดการอักเสบของแผล
-
การประคบเย็น 10-20 นาทีหลังคลอด เพื่อช่วยบรรเทาอาการบวมและลดอาการปวด
-
ดูแลระบบขับถ่ายให้ดี ดื่มน้ำให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อป้องกันอาการท้องผูก ซึ่งอาจทำให้แผลฉีกขาดหรือเกิดริดสีดวงทวาร
น้ำคาวปลา (Lochia)
น้ำคาวปลาจะมีสีแดงสดในช่วงหลังคลอดและค่อยๆ จางลงในระหว่างการฟื้นตัวของมดลูก ซึ่งอาจมีการไหลของน้ำคาวปลานานถึง 8 สัปดาห์ ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือถ้วยจนกว่าจะได้รับการตรวจจากแพทย์

การดูแลแผลผ่าคลอด
แผลผ่าคลอดจะหายในช่วง 7 วัน โดยระหว่างนี้ รักษาความสะอาดแผลหลีกเลี่ยงการยกของหนักในช่วง 6-8 สัปดาห์แรกหลังคลอด
ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ หากปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ โดยหลังอาบน้ำควรซับแผ่นปิดแผลให้แห้ง
ทั้งนี้คุณแม่ควรสังเกตุการปัสสาวะภายใน 6 ชั่วโมงหลังคลอด หากไม่สามารถขับปัสสาวะได้ อาจเป็นอันตรายต่อกระเพาะปัสสาวะ ควรรีบปรึกษาแพทย์หากมีอาการผิดปกติ การดูแลแผลอย่างถูกวิธีและการสังเกตอาการต่างๆ สามารถช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็วและปลอดภัยจากการติดเชื้อหลังคลอด
หลังคลอดแล้วมีเพศสัมพันธ์ได้ตอนไหน
หลังตจากคลอดบุตรจะไม่แนะนำให้มีเพสสัมพันธ์ในทันที ควรรอประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพราะปากมดลูกที่ยังมีการเปิดอยู่จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมถึงเป็นการให้เนื้อเยื่อได้ซ่อมแซมตัวเอง และป้องกันความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในขณะมีเพศสัมพันธ์
อาการผิดปกติหลังคลอดที่ต้องระวัง
หากคุณแม่หลังคลอดมีอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์ทันที
-
เต้านมปวดบวมแดง หรือมีฝี
-
แผลฝีเย็บปวดบวมแดง หรือมีหนอง, แผลผ่าตัดปวดบวมแดง หรือมีหนอง
-
ปวดท้องน้อยมาก
-
น้ำคาวปลาผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น น้ำคาวปลาสีไม่จางลงและไม่ลดลง มีก้อนเลือดออกมาหรือมีกลิ่นเหม็น
-
มดลูกเข้าอู่ช้า หลังคลอด 2 สัปดาห์ไปแล้วยังสามารถคลำพบมดลูกทางหน้าท้อง
-
ปัสสาวะแสบขัด เนื่องจากการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ อาจเกิดจากการทำความสะอาดช่องคลอดและอวัยวะเพศไม่ดี
-
มีเลือดออกทางช่องคลอด ส่วนใหญ่จะเกิดจากแผลในโพรงมดลูกบริเวณที่รกเกาะ เนื่องจากมดลูกหด รัดตัวไม่ดี หรือมีเศษรกตกค้างในโพรงมดลูก
-
ไข้ และมีอาการอักเสบของอวัยวะอื่นร่วมด้วย
-
ปวดศีรษะรุนแรง ปวดศีรษะบ่อยครั้งและปวดเป็นเวลานานๆ อาจเกิดจากความดันโลหิตสูง การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออาจเครียดจากการคลอด
-
กรณีแผลผ่าคลอด สำหรับคุณแม่ที่บริเวณแผลเย็บมีอาการ อักเสบ ปวดบวม แดง ต้องรีบมาพบแพทย์ทันที

ตรวจหลังคลอด สำคัญอย่างไร
การตรวจหลังคลอดช่วยประเมินสุขภาพของคุณแม่หลังคลอดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น การเช็กแผลคลอดและการติดเชื้อ การตรวจภาวะซีด และการดูแลสุขภาพจิตใจ
นอกจากนี้ยังช่วยตรวจมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม รวมถึงการแนะนำวิธีคุมกำเนิด เพื่อให้คุณแม่ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์และปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
สำหรับคนที่ตั้งใจจะเป็นคุณแม่แล้ว ส่วนใหญ่มักจะเตรียมความพร้อมทั้งก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างฝากครรภ์ และการดูแลสุขภาพหลังคลอดด้วย เพราะทุกช่วงเวลาส่งผลกับเจ้าตัวน้อยทั้งสิ้น ยิ่งคุณแม่รู้จักวิธีดูแลตัวเองหลังคลอดดีเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เลี้ยงดูลูกให้เติบโตและมีพัฒนาการสมบูรณ์แข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น รู้แบบนี้แล้วอย่าลืมดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะคุณแม่ทุกท่าน
เอกสารอ้างอิง
-
คู่มือการปฏิบัติตัวหลังคลอดและการดูแลทารกเมื่อกลับบ้านสำหรับคุณแม่, หอผู้ป่วยมารดาหลังคลอดและทารกแรกเกิด กลุ่มงานการพยาบาลโรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
-
คู่มือมารดาหลังคลอดและการดูแลทารก, กรมอนามัยโดยกองอนามัยการเจริญพันธุ์ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ
-
The Vagina Bible, Dr.Jen Gunter, MD
บทความที่น่าสนใจ

นายอัชวิน ธรรมสุนทร
ผู้จัดการทั่วไป
แก้ไขล่าสุด : 23/02/2025
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com