ตรวจนิโคติน เป็นการสารที่เป็นส่วนประกอบหลักในบุหรี่ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น บุหรีไฟฟ้า หรือ พอตสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ในบทความจะมาทำความรู้จักกับการตรวจสารนิโคติน ทำไมต้องตรวจ อยู่ได้นานแค่ไหน การตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด และการเตรียมตัวก่อนการตรวจ
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจนิโคติน
- ตรวจนิโคติน คือการตรวจอะไร
- ทำไมต้องตรวจสารนิโคติน
- สารนิโคตินอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน
- อันตรายของนิโคตินมีอะไรบ้าง
- วิธีการตรวจสารนิโคติน
- ราคาตรวจนิโคตินในปัสสาวะ
- การตรวจนี้เหมาะสำหรับใครบ้าง
- การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ
ตรวจนิโคติน คือการตรวจอะไร
การตรวจนิโคติน (Nicotine Test) คือ การตรวจสอบว่าภายในร่างกายนั้นมีสารอยู่หรือไม่ ซึ่งโดยปกติมักพบได้ในผู้สูบบุหรี่ ใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีสารนี้เป็นส่วนประกอบ
สารนิโคตินคืออะไร?
นิโคติน คือ สารประเภทอัลคาลอยด์ที่สกัดได้จากพืชในสกุล Nicotiana หลายสปีชีส์ (Species) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เพิ่มสารโดปามีน (dopamine) และสารสื่อประสาทอื่นๆในสมอง จึงเป็นสารเสพแล้วติดได้ง่าย ผลต่อร่างกายอื่นๆอาจทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เกิดการทนต่อยาทำให้ต้องการเสพยาในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และเมื่อหยุดยาจะทำให้เกิดการถอนยา
สารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
ตัวกลางในการนำสารนี้เข้าสู่ร่างกายมีหลายอย่าง ได้แก่
- บุหรี่ ยาสูบ และผลิตภัณฑ์จากยาสูบ ไม่ว่าจะโดยการสูบหรือเคี้ยว รวมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ สารสามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้เช่นกัน
- บุหรี่มือสอง หรือมือสาม โดยบุหรี่มือสองคือการสูดควันจากบุหรี่ที่ปล่อยจากผู้สูบโดยตรง และบุหรี่มือสามคือการสูดดูมหรือสัมผัสสารที่หลงเหลือบริเวณพื้นผิวต่างๆหลังจากควันหายไปแล้ว โดยสารสูบบุหรี่มือสองและสามนี้รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าด้วย
- บุหรี่ไฟฟ้าชนิดที่มีนิโคตินผสม
- Nicotine replacement therapy (NRT) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสารนี้อยู่ในระดับต่ำ ใช้ในการป้องกันอาการถอนในคนที่กำลังเลิกบุหรี่ เช่น หมากฝรั่งเลิกบุหรี่ หรือ แผ่นแปะ
- พืชผักบางชนิด เช่น ดอกกะหล่ำ มะเขือม่วง มะเขือเทศ พริกหวาน
สามารถพบสารนิโคตินที่ไหนได้บ้าง?
สามารถพบได้ใน เลือด ปัสสาวะ น้ำลาย เส้นผม และเล็บ
ทำไมต้องตรวจสารนิโคติน
- การตรวจก่อนเริ่มงาน ในบางประเทศ มีการรณรงค์ให้เลิกบุหรี่ จึงมีมาตราการจ้างงานโดยต้องตรวจระดับสารนี้ก่อนเริ่มงาน
- การตรวจก่อนการผ่าตัด สารนี้มีผลให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะลดลง อาจทำให้การฝื้นตัวหลังผ่าตัดไม่ดี จึงมีการตรวจระดับสารนิโคตินก่อนผ่าตัด
- เพื่อติดตามการเลิกสูบบุหรี่ โดยวัดระดับสารนี้ภายในร่างกาย เพื่อช่วยให้ผู้เลิกสูบบุหรี่ได้ติดตามความคืบหน้าในการเลิก
สารนิโคตินอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน
- ในเลือด จะดูดซึมเข้าไปในเลือดได้ภายใน 10 วินาที สามารถอยู่ในเลือดได้ 1-3 วัน หลังจากนั้นตับจะเปลี่ยนสารนิโคตินเป็นสารโคตินิน (Cotinine) ซึงสามารถอยู่ในร่างกายได้นานกว่า และเป็นสารที่ใช้ในการตรวจสอบได้เช่นกัน โดยโคตินินจะอยู่ในเลือด 10 วันนับจากการสูบ
- ในปัสสาวะ สามารถตรวจพบในปัสสาวะได้ 2-4 วันหลังสูบ ส่วนสารโคตินินอยู่ในปัสสาวะได้ 2-3 สัปดาห์
- ในน้ำลาย สมารถตรวจพบได้ในช่วง 4 วันหลังการสูบ
- ในผมและเล็บ ตรวจพบสารโคตินินได้จนถึง 3 เดือนหลังสูบ หากในผู้ที่มีการสูบบุหรี่จัด อาจตรวจพบได้ถึง 1 ปีหลังสูบ
อันตรายของนิโคตินมีอะไรบ้าง
สารนิโคตินส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้ดังนี้
- ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น
- ผนังหลอดเลือดแข็งตัว ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นหลอดเลือดหัวและสมองอุดตัน
- นิโคตินทำให้ติดได้ง่ายมาก ส่งผลให้ติดบุหรี่ เป็นผลให้ร่างกายได้รับอันตรายจากสารอีก 7,000 กว่าชนิดจากการสูบบุหรี่ ทำให้เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งโพรงจมูกและช่องปาก มะเร็งตับ และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- ในผู้ที่มีการตั้งครรภ์สามารถส่งผลต่อทารกในครรภ์ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด ,ทารกน้ำหนักน้อย หรือในกรณีร้ายแรงคือเสียชีวิต
วิธีการตรวจหาสารนิโคติน
ตรวจเลือด (Blood Test)
ทำได้โดยการเก็บตัวอย่างเลือดจากเส้นเลือดดำ และนำตัวอย่างเลือดไปวิเคราะห์ในห้องห้องปฏิบัติการ วิธีนี้มีข้อดีคือ ความแม่นยำสูง แต่อาจมีราคาการตรวจสูงกว่าการตรวจปัสสาวะ
ตรวจปัสสาวะ (Urine Test)
การตรวจปัสสาวะทำได้โดยการเก็บตัวอย่างปัสสาวะในชุดตรวจปัสสาวะที่แห้งและสะอาด โดยตัวอย่างปัสสาวะจะถูกนำส่งไปยังห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหานิโคตินและสารเมตาโบไลต์ เช่น คอตินิน วิธีนี้มีข้อดีคือ สะดวกในการเก็บตัวอย่าง ราคาไม่แพง แต่ไม่เหมาะสำหรับการตรวจย้อนหลังในระยะยาว
ตรวจน้ำลาย (Saliva Test)
จะใช้การตรวจผ่านแผ่นทดสอบหรือหลอดเก็บตัวอย่างน้ำลาย และนำเอาตัวอย่างน้ำลายไปวิเคราะห์ในห้องไปยังห้องปฏิบัติการ เป็นวิธีที่สะดวกและไม่เจ็บ สามารถเก็บตัวอย่างได้ง่าย แต่อาจมีความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจด้วยเลือด
ตรวจเส้นผม (Hair Test)
สามารถทำได้โดยการเก็บตัวอย่างเส้นผมจากหนังศีรษะ ประมาณ 1.5 นิ้ว และนำเอาตัวอย่างของเส้นผมไปวิเคราะห์ในห้องไปยังห้องปฏิบัติการ เหมาะสำหรับใช้ตรวจย้อนหลังในระยะยาว และไม่สร้างความเจ็บปวดในการตรวจ แต่ราคาค่อนข้างสูง และใช้เวลาในการวิเคราะห์ผลนาน
วิธีไหนมีความแม่นยำที่สุด
วิธีการตรวจนิโคตินที่มีความแม่นยำที่สุดคือ การตรวจเลือด
แต่ละวิธีเหมาะกับจุดประสงค์ใด
- ตรวจเลือด เหมาะกับผู้ที่ต้องการความแม่นยำสูง
- ตรวจปัสสาวะ เป็นวิธีที่ราคาถูก มักใช้ในการตรวจก่อนเริ่มงาน
- ตรวจน้ำลาย เหมาะกับผู้ที่ต้องการความรวดเร็วและการหาในระยะสั้นๆ เช่น ติดตามการเลิกบุหรี่ ว่าในช่วง 1-4 วันยังมีการสูบบุหรี่หรือไม่
- ตรวจเส้นผม เหมาะกับการตรวจหาสารย้อนหลังในระยะยาว ตรวจพบได้แม้หยุดสูบบุหรี่ไปนานแล้ว
อ่านเพิ่มเรื่องตรวจสารเสพเติด : ตรวจหาสารเสพติด ทำไมต้องตรวจ? มีวิธีการตรวจแบบไหนบ้าง
ราคาตรวจนิโคตินในปัสสาวะ
ราคาตรวจนิโคตินในปัสสาวะ ตั้งแต่ 1,350 – 1,700 บาท บาท
การตรวจนี้เหมาะสำหรับใครบ้าง
- ผู้ที่สถานที่ทำงานมีความประสงค์ให้เข้ารับการตรวจ
- ผู้ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน
- ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดและแพทย์แนะนำให้ตรวจสุขภาพ
- ผู้ที่กำลังเลิกบุหรี่
- ผู้มีปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่ หรืออุปกรณ์สูบอื่นๆที่มีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจนิโคตินมีดังนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีสารนิโคติน เช่น ดอกกะหล่ำ มะเขือม่วง มะเขือเทศ พริกหวาน 2-3 วันก่อนตรวจ แต่อาหารเหล่านี้หากไม่รับประทานให้ปริมาณที่มาก มักไม่ก่อให้เกิดผลบวกปลอม
- หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ หรือการสูบบุหรี่มือสองหรือสาม
- หากเป็นผู้ที่เคยสูบบุหรี่ การดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารที่มีสาร antioxidant เช่น ดาร์กชอคโกแลต ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ถั่วพีแคน และการออกกำลังกายจะช่วยขับสานี้ออกจากปัสสาวะได้เร็วขึ้น
สรุป
การตรวจสารนิโคตินในร่างกาย เป็นกระบวนการตรวจที่ใช้เพื่อประเมินการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคติน เช่น บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยสารนี้สามารถตรวจพบได้ในเลือด ปัสสาวะ น้ำลาย และเส้นผม การตรวจเลือดให้ความแม่นยำสูงสุด การตรวจปัสสาวะเป็นวิธีที่สะดวกและราคาไม่แพงซึ่งพบบ่อยในการตรวจสุขภาพ การตรวจน้ำลายเป็นวิธีสะดวกและไม่เจ็บเหมาะกับการตรวจในระยะสั้น ส่วนการตรวจเส้นผมเหมาะกับการตรวจย้อนหลังในระยะยาว
“การตรวจนิโคตินมีประโยชน์ในหลายด้าน เช่น การตรวจสุขภาพเพื่อประเมินปัญหาสุขภาพ การติดตามการเลิกบุหรี่ การตรวจสอบในสถานที่ทำงาน และการวางแผนการรักษา วิธีการตรวจที่เหมาะสม และการเตรียมตัวที่ดีจะช่วยให้ได้ผลที่แม่นยำและเป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ และการวินิจฉัยของแพทย์”
– แพทย์หญิงนารดา พิรัชวิสุทธิ์ (แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ประจำคลินิก) –
เอกสารอ้างอิง
- Chuanyi Mark Lu, MD, PhD,Nicotine and Cotinine Test
- Pathology tests explained, Nicotine
- How long does nicotine stay in your system?
บทความที่น่าสนใจ
- ตรวจหาสารเสพติด ทำไมต้องตรวจ? มีวิธีการตรวจแบบไหนบ้าง
- ประเภทของสารเสพติดและวิธีการตรวจสารเสพติดมีอะไรบ้าง
พญ.นารดา พิรัชวิสุทธิ์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
แก้ไขล่าสุด : 12/07/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com