ซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือกามโรค ในช่วงแรกอาจมีแผลที่อวัยวะเพศหรือไม่มีอาการใดๆ ก็ได้และถ้าไม่ได้รักษาแผลดังกล่าวอาจหายเองได้ แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลแทรกซ้อนตามมา
โรคซิฟิลิส เมื่อเป็นแล้วควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
เรื่องเกี่ยวกับซิฟิลิสที่คุณควรรู้
- โรคซิฟิลิสเกิดจากอะไร
- อาการของซิฟิลิส
- ตรวจและรักษาซิฟิลิสที่ไหนดี
- ฉีดยารักษาซิฟิลิสราคาเท่าไร
- ซิฟิลิสติดต่อทางไหน
- จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคซิฟิลิส
- การรักษาโรคซิฟิลิส
- การป้องกันโรคซิฟิลิส
อาการของซิฟิลิส
ซิฟิลิส สามารถแบ่งอาการออกได้เป็น 4 ระยะแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล ซึ่งอาจแสดงอาการแบบเรียงตามระยะ หรือไม่เรียงตามระยะก็ได้ หรืออาจมีอาการของ 2 ระยะร่วมกันในบางราย เชื้ออาจแฝงอยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการเป็นเวลานานหลายปี
ระยะที่ 1 ระยะปฐมภูมิ
ระยะปฐมภูมิ หรือระยะเป็นแผล (Primary syphilis) จะปรากฎเป็นตุ่มแผลเล็ก ๆ สีแดงขอบนูนแข็งที่เรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) ขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ปาก ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ เยื่อบุตา หรือเยื่อบุช่องคลอด ลักษณะกดไม่เจ็บ อาจมีแผลเดียวหรือหลายแผล และสามารถหายได้เองภายใน 3 – 8 สัปดาห์
ระยะที่ 2 ระยะทุติยภูมิ
ระยะทุติยภูมิ หรือระยะออกดอก (Secondary syphilis) เป็นระยะที่เชื้อแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือดตามไปอวัยวะต่างๆ ส่งผลให้เกิดรอยโรคที่มีลักษณะเป็นผื่นหรือแผลกดไม่เจ็บและไม่คัน กระจายตัวทั่วร่างกาย อวัยวะเพศ ฝ่ามือฝ่าเท้า อาจมีไข้ รู้สึกอ่อนเพลีย ผมร่วง และปวดเมื่อยตามตัว
ระยะนี้หากตรวจเลือดมักมีผลเลือดเป็นบวก จากนั้นอาการจะค่อยๆ หายไปหรือเป็นๆ หายๆ แม้ไม่ได้รักษา โดยเชื้อจะยังแฝงในร่างกาย แพร่กระจายได้ง่ายและพัฒนาเข้าสู่ระยะแฝง
ระยะที่ 3 ระยะแฝง
ระยะที่ 3 ระยะแฝง (Latent syphilis) ผู้ป่วยมักจะไม่แสดงอาการอะไรเลยโดยเชื้อสามารถแฝงเร้นในร่างกายได้หลายปีก่อนที่จะพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 4 โดยที่ระยะนี้จะยังสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้
ระยะที่ 4 ระยะสุดท้าย
เนื่องจากเชื้อได้แพร่กระจายไปทั่วร่างกาย และค่อยๆ ทำลายอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบประสาทและสมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ตับ ดวงตา กระดูกและข้อต่อที่ทำให้เกิดโรค
และความผิดปกติต่าง ๆ เช่น ความผิดปกติในการเคลื่อนไหว ลิ้นหัวใจรั่ว หลอดเลือดแดงใหญ่อักเสบ ภาวะสมองเสื่อม ตาบอด หูหนวก อัมพาต ชัก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
การรักษาซิฟิลิสด้วยการฉีดยารักษามีหลากหลายค่ะ บางคนตรวจเจอโดยบังเอิญ ไม่มีอาการ บางคนมีอาการชัดเช่นมีผื่นขึ้น มีแผลที่อวัยวะเพศ มาตรวจแล้วพบว่าเป็นซิฟิลิสก็มี ในรายที่มีอาการชัดส่วนใหญ่จะฉีดยาแค่ 1 เข็มเพราะถือว่าเป็นซิฟิลิสระยะต้น
ส่วนในรายที่ไม่มีอาการ ตรวจเจอโดยบังเอิญจะต้องฉีดยา 3 เข็ม แล้วต้องตรวจติดตามไปอีก 2 ปี เท่าที่รักษามาหากไม่ได้มีความเสี่ยงเพิ่มก็จะหายขาด แต่จะมีกรณีที่คู่นอนไม่ยอมรักษาก็จะติดเชื้อซ้ำๆเรื่อยๆไม่หายขาดก็มีค่ะ เพราะฉะนั้นการรักษาคู่นอนก็สำคัญ
ประสบการณ์การรักษาของแพทย์
– แพทย์หญิงวรางคณา วิวัลย์ศิริกุล (แพทย์ประจำคลินิก) –
ฉีดยารักษาซิฟิลิสราคาเท่าไร
-
ค่าตรวจรักษาและฉีดยารักษาซิฟิลิส ราคา 1,525-4,700 บาท
- ราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษา
ซิฟิลิสติดต่อทางไหน
โรคซิฟิลิสสามารถแพร่เชื้อติดต่อจากคนไปสู่คนผ่านการสัมผัสแผลที่เกิดจากโรคโดยตรงบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือภายในช่องปากดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก และการออรัลเซ็กส์จึงทำให้ติดเชื้อได้
นอกจากนี้เชื้อยังสามารถติดต่อได้ทางสารคัดหลั่งโดยการจูบ หรือสัมผัสแผล ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนี้ก็สามารถแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์ ทำให้เด็กเกิดโรคตั้งแต่กำเนิดได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคซิฟิลิส
แพทย์จะซักประวัติหากมีความเสี่ยงร่วมกับการตรวจร่างกายเพื่อประเมินอาการเบื้องต้นและทำการเจาะเลือดหรือเก็บตัวอย่างจากแผลหรือผื่น เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
การรักษาโรคซิฟิลิส
-
ในผู้ป่วยโรคซิฟิลิส ที่มีการดำเนินโรคอยู่ในระยะที่ 1 แพทย์จะทำการฉีดยาเพนิซิลลิน (Penicillin) เข้ากล้ามเนื้อเพียงครั้งเดียวแม้ไม่มีอาการ
-
ในระยะที่ 2-3 แพทย์จะพิจารณาฉีดยาเพนิซิลลินเข้ากล้ามเนื้อทุกสัปดาห์รวม 3 เข็ม และจะพิจารณาให้ยาทางหลอดเลือดดำหากมีการติดเชื้อในระบบต่าง ๆ
-
แพทย์จะนัดตรวจเลือดหลังรับการรักษา 3 เดือน , 6 เดือน ,1ปี และ 2ปี เพื่อติดตามอาการและเพื่อป้องกันไม่ให้โรคพัฒนาไปสู่ระยะสุดท้าย
การป้องกันโรคซิฟิลิส
-
สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
-
งดมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยง ไม่เปลี่ยนคู่นอน
-
งดการจูบปาก การทำออรัลเซ็กส์ให้กับคู่เพศสัมพันธ์ชั่วคราว
-
งดการใช้เซ็กส์ทอย / เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
-
ไม่สัมผัสบาดแผลของผู้อื่น
-
หากติดเชื้อต้องแจ้งให้คู่รักทราบเพื่อจะได้ป้องกันได้ทัน
-
หญิงตั้งครรภ์ควรเจาะเลือดตามโปรแกรมฝากครรภ์เพื่อตรวจหาเชื้อ
-
ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
-
ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
บทความที่น่าสนใจ
พญ.วรางคณา วิวัลย์ศิริกุล
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
แก้ไขล่าสุด : 29/03/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com