โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ ที่เรียกสั้นๆว่า PCOS กับอาการที่พบบ่อย เช่น ขนดก ผมร่วง สิวขึ้น หน้ามัน อ้วนหรือน้ำหนักจนผิดปกติ เป็นเรื่องที่สามารถเกิดได้หากคุณมี ‘ภาวะฮอร์โมนแอนโดรเจน’ หรือก็คือ ‘ฮอร์โมนเพศชายเยอะเกินไป’ แล้วโรคนี้มีผลต่อร่างกายของสาวๆอย่างไร หากใครอยากรู้ ก็สามารถไปทำความเข้าใจกันได้ในบทความนี้เลยนะคะ
หัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ คืออะไร?
- ถุงน้ําในรังไข่หลายใบ เกิดจากอะไร
- อาการของถุงน้ํารังไข่หลายใบ
- การตรวจวินิจฉัย PCOS
- ตรวจ pcos ราคาเท่าไหร่
- การรักษาถุงน้ําในรังไข่หลายใบ
- วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ PCOS
ถุงน้ำในรังไข่หลายใบคืออะไร
โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic Ovary Syndrome (PCOS) คือ โรคที่มีความผิดปกติของระบบฮอร์โมนต่างๆในร่างกาย ที่เกิดในหญิงวัยเจริญพันธุ์ พบได้ประมาณ 10-13% และส่งผลทำให้ระบบต่างๆในร่างกายทำงานผิดปกติไป เช่น
- ภาวะไม่ตกไข่
- ภาวะฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายเยอะมากเกินไป จึงมีอาการ หน้ามัน สิวขึ้น ขนดก ผมร่วง เป็นต้น
- ส่งผลถึงระบบหัวใจและหลอดเลือด
- มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น
- เป็นภาวะเสี่ยงหากมีการตั้งครรภ์และไม่ได้รักษา
ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เกิดจากอะไร
กลไกการเกิดโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่เกิดจากวงจรฮอร์โมนหลายๆตัว มีความผิดปกติเกี่ยวเนื่องกัน และมีปัจจัยเสี่ยงที่พบโรคนี้ได้บ่อย ได้แก่ หญิงที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
อาการของถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- ประจำเดือนมาผิดปกติ ที่บ่งบอกถึงการตกไข่ที่ผิดปกติไป สามารถเกิดความผิดปกติได้ในทุกรูปแบบ แต่ที่พบบ่อยคือ รอบประจำเดือนนานกว่า 35 วัน หรือ ประจำเดือนไม่มาติดต่อกัน 3 เดือน ขึ้นไป หรือ ประจำเดือนมาน้อยกว่า 8 รอบใน 1 ปี
- อาการของฮอร์โมนเพศชายเยอะผิดปกติ หรือ ฮอร์โมนเพศชายเยอะ (ฮอร์โมนเอนโดรเจน : Androgen) ได้แก่อาการ หน้ามัน สิวขึ้นเยอะ ขนดก ผมร่วงผมบาง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไม่ชัดเจนได้
- ภาวะมีบุตรยาก (พยายามมีบุตรมาอย่างน้อย 1 ปีแต่ไม่สำเร็จ)
- น้ำหนักตัวเยอะผิดปกติ โดยมีดัชนีมวลกายมากกว่า 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร
- ตรวจพบความผิดปกติของน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด หรือ ความดันโลหิตสูง
- ตรวจพบภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
อ่านเพิ่มเติม : PCOS กับการตั้งครรภ์ เรื่องที่คนวางแผนมีบุตรต้องรู้
การตรวจวินิจฉัย PCOS
การวินิจฉัยโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ PCOS แพทย์จะใช้วิธีการตรวจหลายๆอย่างร่วมกัน ได้แก่
1. ซักประวัติเกี่ยวกับประจำเดือนที่ผิดปกติ
ซึ่งหมายถึงภาวะตกไข่ที่ผิดปกติ โดยลักษณะของประจำเดือนผิดปกตินั้น คือ รอบประจำเดือนนานกว่า 35 วัน หรือน้อยกว่า 21 วัน , ประจำเดือนไม่มาติดต่อกัน 3 เดือน ขึ้นไป หรือ ประจำเดือนมาน้อยกว่า 8 รอบใน 1 ปี
2. ตรวจร่างกายพบลักษณะของฮอร์โมนเพศชายที่มากเกินไป
โดยการตรวจเบื้องต้น เช่น
- ขนดกผิดปกติ บริเวณหนวด เครา หน้าอก หัวหน่าว แขนและขา เป็นต้น
- หน้ามัน รูขุมขนกว้าง
- สิวขึ้นเยอะผิดปกติ
- ผมร่วงเยอะ
- โดยในวัยรุ่นจะพบอาการสิวขึ้นเยอะกับขนดก มากกว่าวัยผู้ใหญ่
3. หากประวัติและการตรวจร่างกายไม่ชัดเจน หรือต้องการยืนยันการวินิจฉัย
หากผู้รับบริการตรวจมีประวัติหรือการตรวจร่างกายที่ไม่ชัดเจน แพทย์อาจมีการตรวจเลือด หรือตรวจอัลตราซาวน์เพิ่มเติม
- ตรวจเลือด เป็นการตรวจเพื่อดูว่าปริมาณฮอร์โมนเพศชายในร่างกายว่าสูงผิดปกติหรือไม่ เพื่อหาสาเหตุโรคอื่นที่ไม่ใช่ PCOS เช่น ไทรอยด์ โรคฮอร์โมนผิดปกติแบบอื่นๆ โรคของต่อมหมวกไต ภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร เป็นต้น
- อัลตราซาวน์มดลูกและรังไข่ ในผู้ป่วยที่เป็น PCOS จะอัลตราซาวน์พบถุงน้ำเล็กๆในรังไข่เยอะกว่าปกติ ประมาณ 10 ถุงขึ้นไป หรือมีปริมาตรรังไข่ที่เยอะกว่าปกติ
ตรวจ pcos ราคาเท่าไหร่
การตรวจถุงน้ำรังไข่หลายใบ PCOS ราคาแพ็กเกจ 5,490 บาท
หมายเหตุ: การตรวจอัลตร้าชาวด์มดลูกและรังไข่ เป็นการตรวจเฉพาะกับแพทย์เฉพาะทางเท่านั้นเพื่อความสะดวกควรสอบถามและนัดหมาย ก่อนเข้ารับบริการ
การรักษาโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ
การรักษา PCOS นั้น เพื่อต้องการให้ผู้ป่วยมีภาวะตกไข่ที่ปกติและสม่ำเสมอ ปรับรอบประจำเดือน ลดอาการของฮอร์โมนเพศชายเกิน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ไขมันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงในอนาคต
การรักษาหลักประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการใช้ยา ขึ้นอยู่กับ อาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจแพทย์ และตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ
“หากเป็นกรณีเคสที่ตัวของหมอเองที่เป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปตรวจพบอาการของคนไข้ ที่มีอาการของประจำเดือนผิดปกติ หรือเข้าข่ายอาการของ PCOS ก็จะทำการส่งต่อเคสนี้ให้ผู้รับบริการเข้ารับการตรวจนรีเวช โดยมีสูตินรีแพทย์เป็นผู้รับดูแลเคสต่อค่ะ”
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- ควรควบคุมน้ำหนัก โดยขอแนะนำในผู้ป่วยทุกราย เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนที่ทำให้โรค PCOS ดีขึ้น การศึกษาพบว่าการลดน้ำหนักลง 5% จากน้ำหนักตัวเดิม มีประโยชน์ในหลายๆระบบ
- ควบคุมการรับประทานอาหาร แนะนำให้มีการควบคุมอาหาร เน้นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลซึ่งส่งผลทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินได้มากยิ่งขึ้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การรักษาโดยการใช้ยา
- เพื่อช่วยปรับรอบประจำเดือน ลดอาการของฮอร์โมนเพศชายเยอะเกิน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน
- กลุ่มยาที่สามารถนำมาใช้รักษา PCOS นั้นมีหลายชนิด ได้แก่ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม, ยาลดภาวะดื้ออินซูลิน และยาลดฮอร์โมนเพศชาย เป็นต้น
“ทั้งนี้การใช้ยาแต่ละตัว ขึ้นกับอยู่กับผู้ป่วยแต่ละรายและดุลยพินิจแพทย์ แนะนำปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยา”
ตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ
ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น PCOS ควรจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ เนื่องจาก PCOS ส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆตามมาได้ เช่น ภาวะก่อนเป็นเบาหวานหรือเบาหวาน, ไขมันในโลหิตสูง, ความดันโลหิตสูง และภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเรื่องเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติเพิ่มเติม ซึ่งอาการนี้จะสัมพันธ์กับ PCOS เช่นกัน โดยการตรวจจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจแพทย์ด้วยค่ะ
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- สังเกตอาการผิดปกติของรอบเดือน อาการสิวขึ้นเยอะผิดปกติ หน้ามัน ขนดก ผมร่วง หากสงสัยว่าจะมีภาวะ PCOS ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม
- ควบคุมน้ำหนัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หากมีการรักษาด้วยยาร่วมด้วย ให้ทานยาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง
- พบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามผลการรักษา
- หากมีอาการผิดปกติเพิ่มขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆเพิ่มเติมระหว่างรักษา แนะนำพบแพทย์ก่อนนัด
- หากวางแผนจะตั้งครรภ์ แนะนำปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์เสมอ เนื่องจากตัวโรคอาจมีผลต่อทารกได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
อ่านเพิ่มเติม: PCOS กับการตั้งครรภ์ เรื่องที่คนวางแผนมีบุตรต้องรู้
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ PCOS
PCOS สามารถหายเองได้ไหม?
-
ตอบ: PCOS เป็นโรคที่เป็นภาวะเรื้อรัง ไม่สามารถหายขาดได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและปัจจัยหลายอย่าง แต่สามารถทำให้ตัวโรคดีขึ้นได้ และป้องกันไม่ให้ไม่เกิดโรคอื่นๆตามมา ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่เยอะ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวอาจช่วยให้ตัวโรคดีขึ้นได้
แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินตัวโรคและวางแผนการรักษาอีกครั้ง เนื่องจากการดูจากอาการเพียงอย่างเดียวว่าตัวโรคดีขึ้นแล้วหรือไม่อาจทำได้ยาก อาจต้องให้แพทย์ช่วยประเมินหรือตรวจเพิ่มเติม
โรค PCOS เป็นแล้วอันตรายไหม?
-
ตอบ: มีความอันตรายในระยะยาว โดยในระยะสั้นอาจมีเพียงแค่อาการประจำเดือนผิดปกติ และภาวะฮอร์โมนเพศชายเยอะเกินที่อาจส่งผลต่อความมั่นใจของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ในระยะยาว หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง โรค PCOS ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยาก โรคเบาหวาน โรคไขมันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจในอนาคต และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกอีกด้วย
“ดังนั้น จึงแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนสังเกตอาการ และเข้ารับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อป้องกันการเกิดภาวะเสี่ยงอื่นๆที่เป็นอันตรายในอนาคต”
ตรวจ PCOS ต้องตรวจภายในไหม?
-
ตอบ: การวินิจฉัย PCOS ไม่จำเป็นต้องตรวจภายใน
ยกเว้น กรณีที่มีอาการหรืออาการแสดงที่สงสัยโรคอื่น และมีความจำเป็นต้องตรวจภายในเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามการตรวจภายในเป็นการตรวจที่ละเอียดอ่อน โดยปกติแพทย์จะต้องขอความยินยอมจากผู้ป่วยทุกครั้ง หากผู้ป่วยไม่ต้องการตรวจภายใน แนะนำปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจเพื่อวางแผนการรักษาร่วมกัน
จำเป็นต้องตรวจ PCOS ทุกปีหรือไม่?
-
ตอบ: ปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าจำเป็นต้องตรวจ PCOS ทุกปี แต่แนะนำให้มาตรวจเมื่อมีประจำเดือนและอาการผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม มีการแนะนำให้หญิงไทยทุกคนมีการตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ ซึ่งหากมาพบแพทย์ ผู้ป่วยจะได้รับการซักประวัติเพื่อคัดกรอง PCOS เบื้องต้นร่วมด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Recommendations from the 2023 international evidence-based guideline for the assessment and management of polycystic ovary syndrome, European Journal of Endocrinology
พญ.ณัฐวดี ศรีบริสุทธิ์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
แก้ไขล่าสุด : 19/04/2024
อนุญาตให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com